โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์”

โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์”

โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์”,SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์,โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์”
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัยอันควรในสังคมไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย สถาบัน Collingwood learning (องค์กรกระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชน สหราชอาณาจักร) และมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) จึงร่วมกันสานต่อโครงการละครประเด็นศึกษา “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์” เป็นปีที่ 2 จัดกิจกรรมละครเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ (Theatre-in-Education) มุ่งยับยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ สอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง เรียนรู้จากปัญหา ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปีพ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดแสดงละครประเด็นศึกษาไปแล้วจำนวน 75 รอบ เดินสายไปยัง 35 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ลพบุรี และอ่างทอง โดยมีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 4,999 คน
 
โครงการ ‘SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์’ เกิดขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อปีพ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายผ่านการใช้ศิลปะการแสดงละครเวทีร่วมกับการอมรมเชิงปฏิบัติการและการใช้สื่อการเรียนการสอนที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน พร้อมทั้งยังมีการวิธีการประเมินผลอย่างชัดเจน ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล “แนวทางการปฏิบัติที่ดี” (Good Practice Award)  จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ปัจจุบันโครงการได้ขยายผลไปยังประเทศต่างๆ เข้าถึงโรงเรียนกว่า 2,700 แห่ง และมีนักเรียนกว่า 540,000 คนเข้าร่วม ใน 22 ประเทศทั่วโลก
 
สำหรับประเทศไทย โครงการละครประเด็นศึกษาโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย ภายใต้บริบทที่เหมาะสมกับสังคมไทย เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูนักแสดง และนักเรียน โดยถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก 3 ตัวคือกาก้า เจมส์ และบอย ซึ่งทั้งสามคนเป็นเยาวชน เพื่อนรักนักดื่ม ที่ไม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทั้งสามต้องพบเจอกับบทสรุปที่แตกต่างกันออกไป เนื่องมาจากผลของการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัย หลังจากจบการแสดง มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นว่าหากเป็นนักเรียนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละคร นักเรียนจะปฏิบัติตนแตกต่างไปอย่างไร โดยให้นักเรียนช่วยกันเลือกฉากสำคัญ และพลิกบทให้ตัวละครคิดและตัดสินใจต่างจากเดิม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้นักเรียนตระหนักและเข้าใจขั้นตอนการ ตัดสินใจ รวมไปถึงสาเหตุและผลลัพธ์จากการดื่มสุรา ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนได้นั่นเอง

โครงการอื่นๆ