รู้เท่าทันแอลกอฮอล์
2019-03-18 00:56:05
รู้เท่าทันแอลกอฮอล์
รู้เท่าทันแอลกอฮอล์
มปอ. จัดทำหลักสูตรและดำเนินโครงการฝึกอบรม “รู้เท่าทันแอลกอฮอล์” หรือ Responsible Drinking มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิในปี พ.ศ.2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย ปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการดื่มก่อนวัยอันควร โดยการแก้ที่เหตุแห่งปัญหา ได้แก่ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปอย่าง “รู้เท่าทัน” และ “รับผิดชอบ” อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษภัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตนเอง คนใกล้ชิดและสังคม
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรู้เท่าทัน
ดื่มไม่ขับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อการควบคุมระบบประสาทและสมอง และอาจส่งผลกับร่างกายและจิตใจอีกด้วย เช่น การมองเห็นภาพซ้อน อาการปวดศีรษะ ง่วงนอน กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหากขับขี่ยานพาหนะได้
รับประทานอาหารก่อนการดื่ม ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และก่อนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อช่วยในการชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด
ดื่มน้ำเปล่าอย่างต่อเนื่อง ควรดื่มน้ำเปล่าทั้งระหว่างและหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อลดอาการเมาค้างภายหลังการดื่ม
ไม่เติม หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแก้วยังไม่หมดผู้ดื่มไม่ควรเติมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในแก้วดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ามารถนับปริมาณการดื่มได้อย่างถูกต้อง หรือทราบว่าตนดื่มไปแล้วกี่แก้ว
ประเมินขีดจำกัดตนเอง ผู้ดื่มจะต้องทราบขอบเขตปริมาณการดื่มของตนเองและไม่ดื่มในปริมาณที่มากเกินไปกว่านั้น ในกรณีที่พบอาการผิดปกติระหว่างการดื่ม เช่น วิงเวียนศีรษะ มองเห็นไม่ชัดเจน จะต้องหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทันที
ดูแลกันและกัน ผู้ดื่มจะต้องคอยสังเกต และดูแลเพื่อนที่ดื่มด้วยกันมิให้ดื่มมากจนเกินไป หรือเตือนให้หยุดดื่มและไม่ขับรถ
เลี่ยงการดื่มกาแฟดำ กาแฟดำสามารถลดอาการง่วงซึมของผู้ดื่มได้แต่ไม่มีผลช่วยเร่งให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้น หรือช่วยลดอาการเมาค้างได้แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กาแฟมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายประสบภาวะมากยิ่งขึ้น
คุณทราบหรือไม่ว่า
• การตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสามารถทำได้ได้ภายใน 5 นาที หลังสิ้นสุดการดื่ม และระดับแอลกอฮอล์จะขึ้นสูงสุดภายในเวลา 30 – 45 นาที หลังสิ้นสุดการดื่ม
• แอลกอฮอล์จะคงค้างภายในช่องปากภายหลังสิ้นสุดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 15 – 20 นาที หากมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจภายในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์สูงกว่าความความเป็นจริง ดังนั้น ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งก่อนตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เพื่อให้ได้ผลที่ตรงต่อความเป็นจริง
• ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ดื่ม ในกรณีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวกัน มีดีกรีแอลกอฮอล์เท่ากัน และในปริมาณที่เท่ากันโดยผู้ดื่มหลายคน ผู้ดื่มที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าจะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำว่าผู้ดื่มที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า